วันพุธที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

น้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้นต้านพิษพืช GM

เราอาจเคยได้ยินเรื่องพืช GM (Genetically Modified Crops) มาบ้าง ซึ่งก็คือพืชที่มีการตัดแต่งพันธุกรรม (หรือที่เราเรียกว่าดีเอ็นเอ) เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น ให้ทนต่อสภาพแวดล้อมมากขึ้น  มีผลผลิตมากขึ้น ทนต่อศัตรูพืชมากขึ้น หรือมีอายุการเก็บรักษายืนยาวขึ้น เป็นต้น
Photo CR: http://www.socialphy.com/posts/
off-topic/10816/Genetically-Modified-Food.html

มาดูประวัติพืช GM เบาๆ

ในปีค.ศ. 1994 อเมริกาเป็นประเทศแรกที่อนุญาติให้มีการปลูกพืช GM ในเชิงพาณิชย์และมีการรับรองความปลอดภัย ซึ่งพืชชนิดนั้นก็คือมะเขือเทศที่มีการตัดแต่งพันธุกรรมให้สุกช้ากว่าปรกติสามารถเก็บได้นาน  และในปีเดียวกันยุโรปก็อนุญาติให้มีการปลูกยาสูบที่มีการตัดแต่งพันธุกรรมให้ทนต่อยากำจัดวัชพืชมากขึ้นได้ในเชิงพาณิชย์  

ในปีต่อๆมาจนถึงปัจจุบันประเทศอเมริกาก็มีการอนุญาติให้ปลูกพืช GM หลายชนิดขึ้นซึ่งได้แก่ มันฝรั่ง, ข้าวโพด, คาโนล่า, ฝ้าย, ถั่วเหลือง, สควอช, ชูการ์บีท และมะละกอ

ในปีค.ศ. 2012 มี 28 ประเทศที่มีการปลูกพืช GM ในเชิงพาณิชย์ เช่น อเมริกา, จีน, อาร์เจนติน่า, บราซิล, แคนนาดา และอินเดียเป็นต้น  สำหรับในประเทศไทยยังไม่อนุญาติให้มีการปลูกพืช GMO ในเชิงพาณิชย์  แต่มีการทดลองปลูกในเชิงการทดลอง ดังเช่นการทดลองปลูกมะละกอฮาวายในปี 2540 โดยเป็นโครงการร่วมกับมหาวิทยาลัยคอร์เนล สหรัฐอเมริกา เพื่อแก้ปัญหาไวรัสจุดวงแหวนในมะละกอ

ถั่วเหลือง GM เป็นพืชที่มีการปลูกมากที่สุดในบรรดาพืช GM  ด้วยกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอเมริกา ข้อมูลในปี 2014 94% ของถั่วเหลืองในอเมริกาเป็นถั่วเหลือง GM และถั่วเหลืองเหล่านี้ไม่ได้ขายกันในเฉพาะประเทศอเมริกาเท่านั้นได้มีการส่งออกไปยังประเทศต่างๆหลายประเทศ
  
การบริโภคถั่วเหลือง GM นั้นนอกจากจะพิจารณาจากการบริโภคถั่วเหลืองโดยตรงแล้ว ผลิตภัณฑ์ที่มีการแปรรูปจากถั่วเหลือง เช่นโปรตีน และแป้งจากถั่วเหลือง เต้าหู และอื่นๆ  รวมถึงการนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์เพื่อนำมาเป็นอาหารมนุษย์อีกทีก็ควรมีการพิจารณาด้วย

พืช GM ปลอดภัย หรือ อันตราย

มีงานวิจัยพอสมควรในเรื่องความปลอดภัยของพืช GM ซึ่งก็คงมีความปลอดภัยในระดับหนึ่งถึงอนุญาติให้ใช้เป็นอาหารมนุษย์ได้ตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว  แต่ก็มีข้อสังเกตุว่างานวิจัยส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยของหน่วยงานที่มีความข้องเกี่ยวกับผู้ผลิตพืช GM  และงานวิจัยบางส่วนก็ใช้สัตว์ที่ไม่ใช้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหมือนมนุษย์ หรือใช้เวลาการศึกษาสั้นไป

ในระยะหลังมีบางงานวิจัยที่พบผลเสียในสัตว์ทดลองที่กินพืช GM เป็นเวลานานๆ เช่น พบข้างเคียงต่อตับและไตในหนูที่กินพืช GM เป็นระยะเวลา 90 วัน, การศึกษาในหนูที่ให้กินข้าวโพด GM ระยะยาวเป็นเวลา 2 ปีแล้วพบว่าหนูมีอัตตราการตายสูงขึ้น และมีการเกิดเนื้องอก โรคตับและไตสูงขึ้น และการศึกษาในสุกรที่ให้กินพืช GM (ข้าวโพด และถั่วเหลือง) เป็นเวลา 22.7 สัปดาห์แล้วพบว่าสุกรมีการอักเสบที่กระเพาะเพิ่มขึ้น และมดลูกมีขนาดใหญ่ขึ้น



น้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้นต้านการทำลายดีเอ็นเอจากถั่วเหลือง GM

น้ำมันมะกอกเป็นน้ำมันเพื่อสุขภาพชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะน้ำมันมะกอกชนิดเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้นซึ่งเป็นน้ำมันที่มีปริมาณสารประกอบฟินอลิกอยู่สูงกว่าน้ำมันชนิดอื่นๆ  สารประกอบฟินอลิกในน้ำมันมะกอกมีคุณสมบัติเด่นในการต้านออกซิเดชั่น และต้านอักเสบ

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าในบรรดาพืช GM ทั้งหมดถั่วเหลือง GM จะมีการปลูกมากสุดและมีโอกาสกลายเป็นผลิตภัณฑ์อาหารให้ผู้บริโภครับประทานมากที่สุด  และก็มีบางรายงานที่ได้แสดงให้เห็นว่าสัตว์ทดลองที่บริโภคพืช GM จะมีการเกิดออกซิเดชั่น และ DNA ถูกทำลายมากขึ้น  จึงได้มีการศึกษาผลของความสามารถในการต้านออกซิเดชั่น และการปกป้อง DNA ของน้ำมันมะกอกชนิดเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้นในหนูทดลองที่ให้กินอาหารผสมถั่วเหลือง GM เป็นเวลา 65 วัน แล้วพบว่า

หนูกลุ่มที่ได้รับอาหารผสมถั่วเหลือง GM เพียงอย่างเดียวจะมีการเกิดออกซิเดชั่นของไขมันที่สูงขึ้น ในขณะที่เอนไซม์กำจัดพิษ(กลูต้าไธโอนทรานส์เฟอเรส)มีการทำงานลดลง และมีปริมาณ DNA ของม้ามลดลงจากปรกติ

เมื่อเปรียบเทียบกับหนูที่ได้รับอาหารผสมถั่วเหลือง GM ร่วมกับน้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้นพบว่าจะให้ผลในทางตรงข้ามคือมีการออกซิเดชั่นของไขมันลดลง การทำงานของกูลต้าไธโอนทรานส์เฟอเรสสูงขึ้น และมีปริมาณ DNA ของม้ามสูงขึ้นจนใกล้เคียงค่าปรกติ

นอกจากนี้น้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้นยังแสดงถึงประสิทธิภาพในการลดความเป็นพิษต่อยีนที่ถูกรบกวนด้วยการได้รับถั่วเหลือง GM ในหนูทดลอง

จากการศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการต้านการทำลาย DNA  และการต้านการเกิดออกซิเดชั่นของน้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้น  ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เช่นตับอักเสบ, เบาหวาน และมะเร็งเป็นต้น



ถือว่ายังเป็นโชคดีของคนไทยที่พืช GM ยังไม่ได้ถูกอนุญาติให้ปลูกในเชิงพาณิชย์  แต่ก็เข้าใจความจำเป็นในการวิจัยพืช GM เพื่อมารองรับในสภาพการณ์ในปัจจุบันที่โลกเราอาหารกำลังจะคลาดแคลน เนื่องจากสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป และจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น   ถ้าจะมีการนำเทคโนโลยีพืช GM มาใช้ในไทยจริงๆ ก็อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาผลได้ผลเสียให้ดีก่อน และมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนในการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้


ที่มา

  1. Wikipedia. (2014). Genetically modified crops (Online). Available : http://en.wikipedia.org/wiki/Genetically_modified_crops (July 15,  2014)
  2. GMO Compass. (2007). Countries growing GMOs (Online). Available : http://www.gmo-compass.org/eng/agri_biotechnology/gmo_planting/142.countries_growing_gmos.html (July 15, 2014)
  3. มูลนิธิชีววิถี. (2003). มะละกอ จีเอ็มโอ (GMOs) บทเรียนจากฮาวายสู่เกษตรกรไทย (ออนไลน์). สืบค้นจาก : http://www.biothai.net/news/4903 (15 กรกฎาคม 2557)
  4. USDA. (2014). Recent Trends in GE Adoption (online). Available : http://www.ers.usda.gov/data-products/adoption-of-genetically-engineered-crops-in-the-us/recent-trends-in-ge-adoption.aspx#.U8TrrJR_vUw (July 15, 2014)
  5. Domingo, J. L., & Giné Bordonaba, J. (2011). A literature review on the safety assessment of genetically modified plants. Environment International, 37(4), 734-742.
  6. Carman, J. A., Vlieger, H. R., Ver Steeg, L. J., Sneller, V. E., Robinson, G. W., Clinch-Jones, C. A., ... & Edwards, J. W. (2013). A long-term toxicology study on pigs fed a combined genetically modified (GM) soy and GM maize diet.Journal of Organic Systems, 8(1), 38-54.
  7. El-Kholy, T. A., Hilal, M. A., Al-Abbadi, H. A., Serafi, A. S., Al-Ghamdi, A. K., Sobhy, H. M., & Richardson, J. R. (2014). The Effect of Extra Virgin Olive Oil and Soybean on DNA, Cytogenicity and Some Antioxidant Enzymes in Rats.Nutrients, 6(6), 2376-2386.
  8. Foodconsumer. (2014). Extra virgin olive oil reduces DNA damage induced by GM soybean (Online). Available : http://www.foodconsumer.org/newsite/Nutrition/Food/olive_oil_dna_damage_0701140114.html (July 15, 2014)
  9. Oliveoiltimes. (2014). Study Reveals EVOO May Reduce DNA Damage from GMO soybean (Online). Available : http://www.oliveoiltimes.com/olive-oil-health-news/olive-oil-may-reduce-dna-damage-gmo-soybean/40424 (July 15, 2014)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คุณสามารถแสดงความคิดเห็นในส่วนนี้ได้ค่ะ