วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2556

น้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้น กับ ผู้สูงอายุ


วัยสูงอายุ คือ วัยที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ได้มากที่สุด เนื่องจากระบบการทำงานต่างๆของร่างกายเริ่มทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ แต่ผู้สูงอายุก็สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีไ้้ด้ถ้ามีคนใส่ใจดูแลสุขภาพของพวกท่านเหล่านั้น

การดูแลในเรื่องการรับประทานอาหารของผู้สูงอายุก็เป็นเรื่องสำคัญ บทความนี้จึงขอนำเสนอ น้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้น สำหรับทางเลือกในการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ

pic from http://ajgraves.myunixhost.com/oldage/

ลองมาดูงานวิจัยกัน ว่าน้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้นดีต่อผู้สูงอายุอย่างไร

น้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้นช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการต้านออกซิเดชั่นในผู้สูงอายุ 

มีงานวิจัย(Oliveras-López, et al., 2013)ในผู้สูงอายุ(ช่วงอายุ 65-96ปี)ที่มีสุขภาพดี โดยให้รับประทานน้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้นเพิ่มขึ้นจากการรับประทานอาหารปรกติ วันละ 50 มล. เป็นเวลา 6 สัปดาห์พบว่า
  • ระดับคลอเลสเตอรอลรวม, คลอเรสเตอรอลชนิดเลว(LDL)ลดลง ในขณะที่คลอเรสเตอรอลชนิดดี(HDL)เพิ่มขึ้น 
  • ระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ลดลง 
  • ประสิทธิภาพการต้านออกซิเดชั่นในเลือดโดยรวมดีขึ้น 

อาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียนที่อุดมไปด้วยน้ำมันมะกอกเป็นรูปแบบอาหารสุขภาพที่เหมาะกับผู้สูงอายุ

โดยมีการศึกษาพบว่าอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียนที่อุดมไปด้วยน้ำมันมะกอกสามารถลดภาวะเครียดออกซิเดชั่น(Oxidative Stress) ในผู้สูงอายุได้ Yubero-Serrano (2013 Cite in Marín, 2013) นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สูงวัยที่รับประทานอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียนจะมีอัตรการผลิตอนุมูลอิสระภายในเซลล์ต่ำ และมีอัตราการสั้นลงของเทโลเมียลดลง(เทโลเมียคือ ส่วนปลายของโครโมโซมซึ่งถ้าสั้นถึงระดับหนึ่งจะทำให้เซลล์ไม่แบ่งตัว และทำให้เซลล์ตายในที่สุด)( Marín, et al., 2012)

น้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้นต้านอักเสบในผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคหัวใจได้ดีกว่าน้ำมันมะกอกผ่านกรรมวิธี

จากการศึกษา(Fito, et al., 2007) ในผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจที่มีอายุเฉลี่ย 68 ปี โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกทานน้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้นวันละ 50 มล. ส่วนอีกลุ่มให้ทานน้ำมันมะกอกผ่านกรรมวิธีวันละ 50 มล. โดยให้รับประทาน 2 ช่วง ช่วงละ 3 สัปดาห์ พบว่า
  • ปริมาณ IL6(Interleukin 6) ซึ่งเป็นสารที่เม็ดเลือดขาวหลั่งออกมาเมื่อเกิดภาวะอักเสบ ในกลุ่มผู้ที่รับประทานน้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้นจะมีปริมาณน้อยกว่ากลุ่มที่รับประทานน้ำมันมะกอกผ่านกรรมวิธี 
  • ปริมาณ C-reactive protein ซึ่งเป็นโปรตีนที่ตอบสนองต่อการอักเสบแบบเฉียบพลัน ในกลุ่มผู้ที่รับประทานน้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้นจะมีปริมาณน้อยกว่ากลุ่มที่รับประทานน้ำมันมะกอกผ่านกรรมวิธี 

ลดความดันเลือดช่วงบีบตัว หรือความดันเลือดบน(Systolic blood pressure) ในผู้สูงอายุที่มีภาวะความดันเลือดสูง 

จากการศึกษา(Perona, et al., 2004)ในผู้สูงอายุที่อาศัยในสถานพักคนชราที่มีภาวะความดันเลือดสูงโดยให้รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยน้ำมันมะกอก(ที่มีสารประกอบฟินอลิก 232 ppm และ สควอลีน 3709 ppm) หรือ น้ำมันทานตะวัน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่า

การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยน้ำมันมะกอกสามารถลดความดันเลือดบนให้กลับมาปรกติได้

ช่วยปรับปรุงสมรรถนะการรับรู้(Cognitive function)ในผู้สูงอายุ

มีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่งการบริโภคน้ำมันมะกอกกับสมรรถนะการรับรู้ของผู้สูงอายุพบว่าผู้สูงอายุที่บริโภคน้ำมันมะกอกเป็นประจำจะแสดงความบกพร่องในการรับรู้(Cognitive deficit)ต่ำกว่าผู้สูงอายุที่ไม่ได้บริโภคน้ำมันมะกอก(Berr, et al., 2009)

จากการศึกษาในกลุ่มประชากรผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจพบว่าการบริโภคอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียนที่เน้นการรับประทานน้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้นเป็นประจำจะช่วยปรับปรุงสมรรถนะในการรับรู้(Cognitive function)ของผู้สูงวัยได้ดีกว่าการรับประทานอาหารไขมันต่ำ(Martinez-Lapiscina, et al., 2012)

มีส่วนช่วยในการลดการสูญเสียมวลกระดูกในผู้สูงอายุ

มีการศึกษาพบว่าผู้สูงอายุที่รับประทานอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียนที่เน้นน้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้น มีค่าบ่งชี้ที่แสดงถึงการสร้างมวลกระดูกเพิ่มขึ้น(Fernández-Real, et al., 2012)


ที่มาของข้อมูล

  1. Oliveras-López, M. J., Molina, J. J. M., Mir, M. V., Rey, E. F., Martín, F., & de la Serrana, H. L. G. (2013). Extra virgin olive oil (EVOO) consumption and antioxidant status in healthy institutionalized elderly humans. Archives of gerontology and geriatrics. 
  2. Marín, C., Yubero-Serrano, E. M., López-Miranda, J., & Pérez-Jiménez, F. (2013). Endothelial Aging Associated with Oxidative Stress Can Be Modulated by a Healthy Mediterranean Diet. International journal of molecular sciences,14(5), 8869-8889. 
  3. Marin, C., Delgado-Lista, J., Ramirez, R., Carracedo, J., Caballero, J., Perez-Martinez, P., ... & Lopez-Miranda, J. (2012). Mediterranean diet reduces senescence-associated stress in endothelial cells. Age, 34(6), 1309-1316. 
  4. Fito, M., Cladellas, M., De la Torre, R., Martí, J., Muñoz, D., Schröder, H., ... & Covas, M. I. (2007). Anti-inflammatory effect of virgin olive oil in stable coronary disease patients: a randomized, crossover, controlled trial. European journal of clinical nutrition, 62(4), 570-574. 
  5. Perona, J. S., Cañizares, J., Montero, E., Sánchez-Domı́nguez, J. M., Catalá, A., & Ruiz-Gutiérrez, V. (2004). Virgin olive oil reduces blood pressure in hypertensive elderly subjects. Clinical Nutrition, 23(5), 1113-1121. 
  6. Berr, C., Portet, F., Carriere, I., Akbaraly, T. N., Feart, C., Gourlet, V., ... & Ritchie, K. (2009). Olive oil and cognition: results from the three-city study.Dementia and geriatric cognitive disorders, 28(4), 357-364. 
  7. Martinez-Lapiscina, E. H., Clavero, P., Toledo, E., San Julian, B., Sanchez-Tainta, A., Corella, D., ... & Martinez-Gonzalez, M. Á. (2012). Virgin olive oil supplementation and long-term cognition: the Predimed-Navarra randomized, trial. The journal of nutrition, health & aging, 1-9. 
  8. Fernández-Real, José Manuel, et al. "A Mediterranean diet enriched with olive oil is associated with higher serum total osteocalcin levels in elderly men at high cardiovascular risk." Journal of Clinical Endocrinology & Metabolism97.10 (2012): 3792-3798.

วันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2556

สุขภาพดีกับอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียน

อาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียนคือ


รูปแบบการรับประทานอาหารแต่ดั้งเดิมของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ได้แก่ประเทศ กรีก อิตาลีทางตอนใต้ และสเปน

รูปแบบการรับประทานอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียน ได้ถูกยอมรับให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศอิตาลี กรีก สเปน และโมร๊อกโก โดยองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก(UNESCO) เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2010

หมายเหตุอิตาลีทางตอนเหนือจะไม่ได้รับประทานอาหารรูปแบบเมดิเตอร์เรเนียนที่แท้จริงเนื่องจากมีการใช้น้ำมันหมู และเนยในการประกอบอาหาร ส่วนน้ำมันมะกอกใช้ในการทำสลัดเท่านั้น

รูปแบบอาหารเมดิเตอร์เรเนียนเป็นอย่างไร


Mediterranean diet
Pic from http://naaaksh.blogspot.com/
  • ใช้น้ำมันมะกอกในการประกอบอาหาร
  • รับประทานผักร่วมกับอาหารทุกมื้อ
  • รับประทานปลาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และรับประทานเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู และ เนื้อไก่ ในปริมาณเล็กน้อย
  • รับประทานผลไม้สดทุกวัน รับประทานผลไม้แห้งเป็นของหวาน และรับประทานถั่วเป็นของทานเล่น
  • รับประทานโยเกิรต์ทุกวัน และรับประทานเนยแข็งบ้าง
  • รับประทานขนมปัง และซีเรียลที่ทำจากทั้งเมล็ด (Wholegrain)
  • รับประทานไวน์ในระดับปานกลางคือประมาณ 1 แก้วต่อวัน (ถ้าทานมากกว่านี้จะเกิดผลเสียจากอัลกอฮอล์)
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่ม หรืออาหารที่มีรสหวาน คือรับประทานเป็นบางโอกาส

ทำไมถึงสนใจการรับประทานอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียน


น้ำมันมะกอกถือเป็นพระเอกในการรับประทานอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียน เนื่องจากในน้ำมันมะกอกมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวพันธะเดียวอยู่ในปริมาณสูง (มากกว่า 70%) และมีสารประกอบฟินอลิกที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการศึกษาพบว่าอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้ เนื่องจากความสามารถในการลดระดับคลอเรสเตอรอลในเลือด การลดความดันเลือด และการต้านอักเสบ

การนำสู่สาธารณชนของอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียนเริ่มตั้งแต่ในปี ค.ศ. 1945 แต่การเป็นที่รู้จักยังไม่แพร่กระจายเท่าไหร่ จนกระทั้งมีการศึกษาโครงการระยะยาวใน 7 ประเทศ (อเมริกา, ฟินแลนด์, เนเธอร์แลนด์, อิตาลี, เซอร์เบีย, กรีซ และ ญี่ปุน) ซึ่งเป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระดับคลอเรสเตอรอลกับการตายจากโรคหัวใจ โดยเริ่มเก็บข้อมูลในช่วงปี ค.ศ. 1957-1964 และทำการศึกษาผลตามมาต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 40 ปี  ในช่วงยุค 90 (ช่วง ค.ศ. 1990-1999) ข้อมูลที่ได้จากการสังเกตุในช่วงแรกของการศึกษาได้แสดงออกมา และพบว่าการรับประทานอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียนเป็นผลดีต่อสุขภาพหัวใจ นี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความสนใจในการรับประทานอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียน

เคล็ดลับสุขภาพกับอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียน


ปัจจุบันมีการศึกษาหลายการศึกษาที่ชี้ว่าสารประกอบต่างๆที่ได้รับจากการรับประทานอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียน ได้แก่ ไฮดรอกซีไทโรซอล(Hydroxytyrosol)ในน้ำมันมะกอก, กรดไขมันชนิดโอเมก้า 3 จากน้ำมันปลา, เรสเวอราทรอล(Resveratrol) จากไวน์แดง, เบต้าไซโตสเตอรอล(ฺBeta-Sitosterol) จากผักต่างๆ และสารประกอบอื่นๆ เป็นสารที่ให้ผลดีต่อสุขภาพ

พลังแห่งสารประกอบฟินอลิกในน้ำมันมะกอกเป็นที่ประจักษ์

ที่ผ่านมาผู้คนอาจให้ความสนใจประโยชน์ต่อสุขภาพของกรดไขมันไม่อิ่มตัวพันธะเดี่ยวที่มีปริมาณสูงในน้ำมันมะกอก  แต่แล้วในปัจจุบันมีรายงานวิจัยหลายงานวิจัยที่สนับสนุนว่าสารประกอบฟินอลิกในน้ำมันมะกอกก็มีีความสำคัญต่อสุขภาพไม่แพ้กัน

ในปี ค.ศ. 2007 นักวิจัยชาวสเปนได้รวบรวมการศึกษาทางคลินิก และแสดงให้เห็นว่าผลประโยชน์ต่อสุขภาพของน้ำมันมะกอกไม่ได้มาจากกรดไขมันไม่อิ่ิมตัวพันธะเดียวเพียงอย่างเดียว แต่มาจากสารประกอบฟินอลิกในน้ำมันมะกอกด้วย
hiphoto40/iStockphoto.com

มีการศึกษาขนาดใหญ่(ศึกษาใน 200 คน จากประเทศแถบยุโรป 5 ประเทศ) อีกการศึกษาหนึ่งที่ได้กล่าวว่าสารประกอบฟินอลิกในน้ำมันมะกอกเปรียบเสมือน "อาวุธลับ" โดยในการศึกษานี้ได้ให้ผู้ทดสอบได้รับน้ำมันมะกอกชนิดต่างๆที่มีปริมาณสารประกอบฟินอลิกแตกต่างกัน และพบว่าทุกกลุ่มที่ได้รับน้ำมันมะกอกมีระดับคลอเรสเตอรอลชนิดดีเพิ่มขึ้น และ ระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ลดลง แต่สิงที่ต่างออกไปคือกลุ่มที่ไ้ด้รับน้ำมันมะกอกที่มีสารประกอบฟินอลิกระดับกลาง และสูง จะสามารถลดการเกิดออกซิเดชั่นของ LDL ได้ด้วย โดยน้ำมันมะกอกที่มีสารประกอบฟินอลิกสูงจะลดการเกิดออกซิเดชั่นได้ดีที่สุด

การรับประทานน้ำมันมะกอกร่วมกับกรดไขมันชนิดโอเมก้า 3 จะป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจได้ดียิ่งขึ้น

มีการศึกษาได้แสดงว่าการได้รับสารประกอบฟินอลิกในน้ำมันมะกอกร่วมกับกรดไขมันชนิดโอเมก้า 3 จะให้ประโยชน์ในการป้องกันการเกิดโรคหัวใจได้ดีกว่าการรับประทานเพียงตัวใดตัวหนึ่ง

ประโยชน์ต่อหัวใจเมื่อเปรียบเีทียบกับแอสไพริน

แพทย์มักจะจ่ายยาแอสไพรินให้กับผู้ป่วยโรคหัวใจ เนื่องจากแอสไพรินมีคุณสมบัติในการต้านการเกาะตัวกันของเกร็ดเลือด และต้านอักเสบ

มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าสารประกอบฟินอลิกในน้ำมันมะกอกก็มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับแอสไพริน

การป้องกันมะเร็งด้วยวิถีแห่งธรรมชาติ

มีการศึกษาหลายการศึกษาที่แสดงว่าการรับประทานอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียนช่วยป้องกันและต่อสู้กับโรคมะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารประกอบฟินอลิกที่อยู่ในน้ำมันมะกอก

ความสามารถในการป้องกันการเสื่อมของกระดูก

มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าสารประกอบฟินอลิกในน้ำมันมะกอกมีส่วนช่วยในการลดการสูญเสียของมวลกระดูกได้


"เลือกน้ำมันมะกอก เลือกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้น"

ที่มา

  1. Wikipedia. (2013). Mediterranean (Online). Available: http://en.wikipedia.org/wiki/Mediterranean_diet (2013, September 10)
  2. Cathy Jhonson. (2013). 10 Commandment of the real Mediterranean diet(Online). Available: http://www.abc.net.au/health/thepulse/stories/2013/04/15/3737114.htm(2013, September 10) 
  3. Menotti, A., Lanti, M., Kromhout, D., Blackburn, H., Nissinen, A., Dontas, A., ... & Adachi, H. (2007). Forty-year coronary mortality trends and changes in major risk factors in the first 10 years of follow-up in the seven countries study. European journal of epidemiology22(11), 747-754.
  4. Dale Kiefer. (2010). The secret behind the Mediterranean diet(Online). Available: http://www.lef.org/magazine/mag2010/jan2010_The-Secret-Behind-The-Mediterranean-Diet_01.htm