วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การศึกษาทางคลีนิกในมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันมะกอก หรือสารประกอบฟินอลิกในน้ำ้มันมะกอก

ต้านอนุมูลอิสระ

สารประกอบฟินอลิกในมะกอกสามารถเพิ่มระดับกูลต้าไทโอนในเลือดในอาสาสมัครสุขภาพดี


อาสาสมัครสุขภาพดีจำนวน 98 คน ซึ่งถูกคัดเลือกมาจากศูนย์การแพทย์ปริ้นซ์คอร์ตในประเทศมาเลเซีย ได้ถูกนำไปตรวจเลือดเพื่อตรวจระดับกลูตาไธโอน โดยตรวจก่อนที่จะได้รับสารสกัด และหลังได้รับสารสกัด 1 ชม. พบว่าระดับกลูตาไธโอนในเลือดเพิ่มขึ้นแต่ไม่พบความแตกต่างของประสิทธิภาพในการต้านออกซิเดชั่น


ก่อนได้รับ
หลังได้รับ
ระดับ GSH(mM) ในเลือด
1.794
2.837
ระดับ GSSH(mM) ในเลือด
0.403
0.741
GSH คือ กูลต้าไทโอนในรูปรีดิวซ์, GSSH คือ กูลต้าไทโอนในรูปอ๊อกซิไดซ์
ทั้งนี้การเพิ่มของระดับกลูต้าไธโอนอาจเกี่ยวข้องกับการทำงานของเอนไซม์ g-glutamylcysteine ligase และ glutathione synthetase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์กูลต้าไทโอนในร่างกาย

ที่มา : Visioli, F., Wolfram, R., Richard, D., Abdullah, M. I. C. B., & Crea, R. (2009). Olive phenolics increase glutathione levels in healthy volunteers. Journal of agricultural and food chemistry, 57(5), 1793-1796.

ไฮดรอกซีไทโรซอล สามารถเพิ่มระดับกลูต้าไธโอนในเซลล์นิวโทรฟิล และเพิ่มกิจกรรมการทำงานของเอนไซม์ กูลต้าไธโอนเปอร์ออกซิเดส (GPx) ในเซลล์ลิมโฟซัยท์ ได้ในอาสาสมัครสุขภาพดี


เป็นงานวิจัยแบบสุ่ม โดยมีการออกแบบการศึกษาแบบไขว้(Randomized Crossover Study) โดยใช้อาสาสมัครสุขภาพดีจำนวน 12 คน อายุระหว่าง 20-45 ปี แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งได้รับน้ำมันทานตะวันที่มีการเพิ่มสารไฮดรอกซีไทโรซอล อีกกลุ่มได้รับน้ำมันทานตะวันเพียงอย่างเดียว พบว่าระดับกูลต้าไธโอนรวมในเซลล์ลิมโฟซัยท์ของทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน แต่ในกลุ่มที่ได้รับสารไฮดรอกซีไทโรซอลมีระดับกลูต้าไธโอนในเซลล์นิวโทรฟิล และกิจกรรมการทำงานของเอนไซม์ GPx มากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับ





ที่มา : Baeza, I., et al. "Effect of oil (sunflower oil) consumption with added hydroxytyrosol (natural antioxidant) on antioxidant variables in leucocytes from healthy adults." Proceedings of the Nutrition Society 67.OCE1 (2008).

น้ำมันมะกอกที่มีปริมาณสารประกอบฟินอลิกสูงสามารถบรรเทาภาวะการเกิดอ๊อกซิเดชั่นภายในร่างกายได้


เป็นงานวิจัยแบบสุ่มที่มีการหลอกทั้งสองข้าง(ทั้งผู้ที่ถูกศึกษา และผู้ศึกษา) โดยมีการออกแบบการศึกษาแบบไขว้ (Randomized Double Blind Crossover Study) ศึกษาในผู้ชายสุขภาพดี 12 คน ไม่สูบบุหรี่ อายุเฉลี่ย 21.1 ปี ผู้ทดสอบจะถูกควบคุมอาหารโดยให้รับประทานอาหารที่มีปริมาณสารประกอบฟินอลิกต่ำ ร่วมกับน้ำมันมะกอกที่ต้องการทดสอบซึ่งมี 3 ชนิด คือ ชนิดที่มีปริมาณสารประกอบฟินอลิกสูง (HPC: 486 ppm), กลาง (MPC:133ppm) และต่ำ(LPC:10 ppm) พบว่า

ผลต่อการเกิดภาวะออกซิเดชั่นภายในร่างกาย


ปริมาณสารประกอบฟินอลิกในน้ำมันมะกอก
สูง(HPC)
กลาง(MPC)
ต่ำ(LPC)
การเกิดอ๊อกซิเดชั่นของ LDL
ลดลง 25.2%
ไม่เปลี่ยนแปลง
ไม่เปลี่ยนแปลง
ปริมาณ 8-oxo-dG ใน DNA
ลดลง 49.2%
ลดลง ~38%
ลดลง ~31%
ปริมาณ 8-oxo-dG ใน ปัสสาวะ
ลดลง 51.67%
ลดลง ~20%
ลดลง ~19%
ปริมาณ MDA ในปัสสาวะ
ลดลง 59.7%
ลดลง ~25%
ลดลง ~20%
กิจกรรม Glutathione Peroxidase
เพิ่มชึ้น 9.8%
เพิ่มขึ้น ~6.3%
เพิ่มขึ้น 4.4%
ระดับคลอเรสเตอรอล HDL
เพิ่มขึ้น 7.7%
เพิ่มขึ้น 7.1%
เพิ่มขึ้น~2.3%
8-oxo-dG หรือ 8-oxo-7,8-dihydro-2-deoxyguanosine เป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพที่บ่งบอกถึงการเกิดอ๊อกซิเดชั่นของ DNA
MDA หรือ malondialdehyde เป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพที่บ่งบอกถึงการเกิดอ๊อกซิเดชั่นของไขมัน
Glutathione peroxidase เป็นเอนไซม์ที่มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระไฮโดรเจนเปอร์อ๊อกไซด์ในร่างกาย

ผลต่อระดับสารประกอบฟินอลิกที่พบในน้ำมันมะกอกในเลือด

ระดับสารประกอบฟินอลิกของน้ำมันมะกอกในเลือด ได้แก่ ไธโรซอล, ไฮดรอกซีไธโรซอล และ เมทิลไฮดรอกซีไธโรซอล(3-O-methyl-hydroxytyrosol) เพิ่มขึ้นแปรผันตามปริมาณสารประกอบฟินอลิกในน้ำมันมะกอก




ที่มา: Weinbrenner, T., Fito, M., de la Torre, R., Saez, G. T., Rijken, P., Tormos, C., ... & Covas, M. I. (2004). Olive oils high in phenolic compounds modulate oxidative/antioxidative status in men. The Journal of nutrition, 134(9), 2314-2321.

เพิ่มการต้านการออกซิเดชั่น LDL โดยภูมิคุ้มกัน


เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่ม และมีกลุ่มควบคุม โดยมีการออกแบบการศึกษาแบบไขว้ (Randomized Control Trial Crossover Study) ศึกษาในผู้ชายสุขภาพดีช่วงอายุ 20 – 60 ปี จำนวน 200 คน โดยแบ่งกลุ่มให้รับประทานน้ำมันมะกอกที่มีปริมาณสารประกอบฟินอลิกแตกต่างกัน (สูง 366 ppm, กลาง 164 ppm และ น้อย 2.7 ppm) เป็นเวลา 3 สัปดาห์ พบว่าน้ำมัีนมะกอกที่มีปริมาณสารประกอบฟินอลิกสูงจะสามารถเพิ่มระดับ Oxidized LDL Antibody (OLAB) ในเลือดซึ่งจะส่งผลให้เกิดการต้านออกซิเดชั่นของ LDL ได้มากกว่าน้ำมันมะกอกที่มีสารประกอบฟินอลิกต่ำ 

แผนภูมิแท่งแสดงระดับ OLAB ในเลือดของกลุ่มอาสาสมัครที่ได้รับน้ำมันมะกอกที่มีปริมาณโพลีฟินอลต่างๆ
 (LPC: ต่ำ, MPC: ปานกลาง และ HPC: สูง)

ที่มา: Castañer, Olga, et al. "The effect of olive oil polyphenols on antibodies against oxidized LDL. A randomized clinical trial." Clinical Nutrition 30.4 (2011): 490-493.

การรับประทานน้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้นเพิ่มเติมจากอาหารประจำวันจะช่วยให้ภาวะการต้านออกซิเดชั่นดีขึ้นในผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี

เป็นการศึกษาในผู้สุงอายุจำนวน 62 คนซึ่งมีอายุอยู่ในช่วง 65-96 ปี โดยแบ่งผู้ทดสอบออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้รับประทานอาหารตามปรกติ ส่วนอีกลุ่มรับประทานอาหารตามปรกติแต่ให้เพิ่มน้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้นอีกวันละ 50 มล. เป็นเวลา 6 สัปดาห์ พบว่ากลุ่มที่ได้รับน้ำมันมะกอกมีระดับ LDL ลดลง HDL เพิ่มขึ้น และมีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระในเลือดเพิ่มขึ้น

ที่มา: Oliveras-López, M. J., Molina, J. J. M., Mir, M. V., Rey, E. F., Martín, F., & de la Serrana, H. L. G. (2013). Extra virgin olive oil (EVOO) consumption and antioxidant status in healthy institutionalized elderly humans. Archives of gerontology and geriatrics.

"I take lots of antioxidants. That's why I'm still on the first of my nine live"

โรคหัวใจ

ลดปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ

เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่ม และมีกลุ่มควบคุม โดยมีการออกแบบการศึกษาแบบไขว้ (Randomized Control Trial Crossover Study) ศึกษาในอาสาสมัครสุขภาพดีเพศชายจำนวน 200 คน โดยแบ่งกลุ่มให้รับประทานน้ำมันมะกอกที่มีปริมาณสารประกอบฟินอลิกแตกต่างกัน (สูง 366 ppm, กลาง 164 ppm และ น้อย 2.7 ppm) เป็นเวลา 3 สัปดาห์ และมีระยะพัก 2 สัปดาห์ พบว่าระดับ HDL สูงขึ้น , อัตราส่วนระหว่างคลอเรสเตอรอลรวมต่อ HDL ลดลง, ระดับไตรกีลเซอร์ไรด์ลดลง, ค่าบ่งชี้ทางชีวภาพในการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นลดลง และการเกิดออกซิเดชั่นของ LDL ลดลง โดยพบว่าน้ำมันมะกอกที่มีสารประกอบฟินอลิกสูงจะให้ผลดีกว่าน้ำมันมะกอกที่มีสารประกอบฟินอลิกต่ำ

ที่มา : Covas, M. I., Nyyssönen, K., Poulsen, H. E., Kaikkonen, J., Zunft, H. J. F., Kiesewetter, H., ... & Marrugat, J. (2006). The effect of polyphenols in olive oil on heart disease risk factors. Ann Intern Med, 145(5), 394-395.

การรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำมันมะกอกเวอร์จิ้นสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเซลล์บุผิวหลอดเลือดได้ดีขึ้น

เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่ม โดยมีการออกแบบการศึกษาแบบไขว้ ( Randomised Cross-over Design) ศึกษาในผู้ชายสุขภาพดีจำนวน 20 คน โดยให้รับประทาน 3 แบบคือ แบบตะวันตกซึ่งมีไขมันอิ่มตัวสูง (22% SFA, 12% MUFA and 0.4% alpha-linolenic acid (ALA) , แบบเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งมีไขมันไม่อิ่มตัวพันธะเดี่ยวสูง ( < 10 % SFA, 24 % MUFA and 0.4% ALA), แบบไขมันต่ำซึ่งมี ALA(โอเมก้า 3)สูง ( < 10% SFA, 12% MUFA and 2% ALA) เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ พบว่ากลุ่มที่ทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวพันธะเดี่ยวสูง หรือน้ำมันมะกอก จะมีประสิทธิภาพการทำงานของเซลล์บุผิวหลอดเลือด (endothelial function) ดีกว่ากลุ่มอื่นๆ

ที่มา : Fuentes F, López-Miranda J, Pérez-Martinez P, et al. Chronic effects of a highfat diet enriched with virgin olive oil and a low-fat diet enriched with alphalinolenic acid on postprandial endothelial function in healthy men. Br J Nutr 2008;100:159–65.

ต้านอักเสบในผู้ป่วยโรคหัวใจ

เป็นงานวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่ม ที่มีตัวอย่างควบคุมเป็นตัวอย่างหลอก และมีการออกแบบการศึกษาแบบไขว้(Randomized, Crossover, Controlled trial Design) ศึกษาในผู้ป่วยโรคหัวใจอายุเฉลี่ย 68 ปี ที่อยู่ในภาวะคงที่ จำนวน 28 คน โดยให้รับประทาน 2 แบบคือ น้ำมันมะกอกผ่านกรรมวิธี(สารประกอบฟินอลิก 14.67 ppm) และ น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ (สารประกอบฟินอลิก 161 ppm) เป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์โดยมีระยะพัก 2 สัปดาห์ พบว่าผู้ป่วยโรคหัวใจที่รับประทานน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์(Virgin olive oil) จะมีปริมาณสารก่อการอักเสบน้อยกว่า ผู้ป่วยที่รับประทานน้ำมันมะกอกชนิดผ่านกรรมวิธี


ที่มา : Fito, M., Cladellas, M., De la Torre, R., Martí, J., Muñoz, D., Schröder, H., ... & Covas, M. I. (2007). Anti-inflammatory effect of virgin olive oil in stable coronary disease patients: a randomized, crossover, controlled trial. European journal of clinical nutrition, 62(4), 570-574.

การรับประทานน้ำมันมะกอกเวอร์จิ้นที่อุดมไปด้วยสารฟีนอลสามารถลดการจับตัวกันของลิ่มเลือดภายหลังมื้ออาหารในผู้ที่มีภาวะระดับคลอเรสเตอรอลในเลือดสูง

เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่ม โดยมีการออกแบบการศึกษาแบบไขว้ โดยศึกษาในอาสาสมัครที่มีภาวะระดับคลอเรสเตอรอลในเลือดสูงจำนวน 21 คน โดยให้รับประทานอาหารเช้าทีมีส่วนประกอบเป็นน้ำมันมะกอกที่มีระดับสารประกอบฟินอลิกแตกต่างกันคือ 80 ppm และ 400 ppm พบว่ากลุ่มที่รับประทานน้ำมันมะกอกที่มีสารประกอบฟินอลิกสูงจะมีภาวะการก่อลิ่มเลือดต่ำกว่ากลุ่มที่รับประทานน้ำมันมะกอกที่มีสารประกอบฟินอลิกต่ำ

ที่มา Ruano, J., López-Miranda, J., de la Torre, R., Delgado-Lista, J., Fernández, J., Caballero, J., ... & Pérez-Jiménez, F. (2007). Intake of phenol-rich virgin olive oil improves the postprandial prothrombotic profile in hypercholesterolemic patients. The American journal of clinical nutrition, 86(2), 341-346.

ลดอุบัติการณ์การเกิดโรคหัวใจในผู้หญิงชาวอิตาลี

เป็นการศึกษาระยะยาวแบบติดตามไปข้างหน้าเป็นเวลา 7.85 ปีในผู้หญิงชาวอิตาลีจำนวน 29,689 คน (46.6% เป็นวัยหมดประจำเดือน ) อายุกลุ่มที่ศึกษาอยู่ในช่วง 50 + 7.9 ปีพบว่า การบริโภคผักใบในปริมาณมากกว่า 170 กรัมต่อวัน และน้ำมันมะกอกมากกว่า 30 กรัม(2-3ช้อนโต๊ะ) ต่อวัน สามารลดอุบัติการณ์การเกิดโรคหัวใจได้ประมาณ 40%

ที่มา Bendinelli, B., Masala, G., Saieva, C., Salvini, S., Calonico, C., Sacerdote, C., ... & Panico, S. (2011). Fruit, vegetables, and olive oil and risk of coronary heart disease in Italian women: the EPICOR Study. The American journal of clinical nutrition, 93(2), 275-283.


ความดันโลหิต

ลดความดันโลหิตช่วงบีบตัว(Systolic blood pressure)

เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่ม และมีกลุ่มควบคุม โดยมีการออกแบบการศึกษาแบบไขว้ (Randomized Control Trial Crossover Study) ศึกษาในอาสาสมัครสุขภาพดีเพศชาย จำนวน 160 คน อายุเฉลี่ย 33.3 ปี จากประเทศแถบยุโรป 5 ประเทศ (ฟินแลนด์, เดนมาร์ค, เยอรมัน, อิตาลี และ สเปน) โดย แบ่งกลุ่มให้รับประทานน้ำมันมะกอกที่มีปริมาณสารประกอบฟินอลิกแตกต่างกัน (สูง 366 ppm, กลาง 164 ppm และ น้อย 2.7 ppm) เป็นเวลา 3 สัปดาห์ และมีระยะพัก 2 สัปดาห์ พบว่าการรับประทานน้ำมันมะกอกสามารถลดความดันเลือดช่วงหัวใจบีบในผู้ทดสอบที่อยู่ในประเทศที่ไม่ได้รับประทานอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียน

ที่มา : Bondia-Pons, I., Schröder, H., Covas, M. I., Castellote, A. I., Kaikkonen, J., Poulsen, H. E., ... & López-Sabater, M. C. (2007). Moderate consumption of olive oil by healthy European men reduces systolic blood pressure in non-Mediterranean participants. The Journal of nutrition, 137(1), 84-87.

ลดความดันโลหิตช่วงบีบตัว(Systolic blood pressure)ในผู้ป่วยสูงอายุที่มีความดันโลหิตสูง


เป็นการศึกษาของมูลจากผู้สูงอายุที่พักอาศัยในบ้านพักคนชราในประเทศสเปน ซึ่งสามารถควบคุมโภชนการของอาหารที่ได้รับในแต่ละวันได้ ศึกษาในผู้สูงอายุเพศหญิงจำนวน 42 คน และเพศชายจำนวน 20 คน ซึงใน 62 คนนี้มี 31 คนมีระดับความดันโลหิตปรกติ และอีก 31 คนมีระดับความดันโลหิตสูง โดยแบ่งกลุ่มให้รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยน้ำมันมะกอก(ที่มีสารประกอบฟินอลิก 232 ppm และ สควอลีน 3709 ppm) หรือ น้ำมันทานตะวัน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ และมีระยะพัก 4 สัปดาห์ พบว่าการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยน้ำมันมะกอกสามารถลดควาดันโลหิตช่วงหัวใจบีบตัวในผู้สูงอายุที่มีภาวะความดันโลหิตสูงให้กลับมาปรกติได้

ที่มา : Perona, J. S., Cañizares, J., Montero, E., Sánchez-Domı́nguez, J. M., Catalá, A., & Ruiz-Gutiérrez, V. (2004). Virgin olive oil reduces blood pressure in hypertensive elderly subjects. Clinical Nutrition, 23(5), 1113-1121.

เบาหวาน

ลดอุบัติการณ์การเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2

เป็นการศึกษาแบบ Three arm randomized trial ศึกษาในผู้ทดสอบ 418 คนที่ไม่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน , มีอายุระหว่าง 55 – 80 ปี โดยกลุ่มควบคุมมีการให้ความรู้ในการรับประทานอาหารไขมันต่ำ (low-fat diet) กลุ่มทดสอบให้รับประทานอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียนโดยแบ่งเป็นให้เน้นการบริโภคถั่ว หรือ เน้นบริโภคน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ ทุกกลุ่มอนุญาตให้รับประทานอาหารได้เต็มที่ และไม่มีการแนะนำให้ออกกำลังกาย และมีการติดตามผลเป็นเวลา 4 ปี พบว่าอัตราการเกิดโรคเบาหวานลดลง 51 และ 52 % ในกลุ่มที่รับประทานอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียนที่เน้นน้ำมันะกอก และถั่วตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่รับประทานอาหารไขมันต่ำ

ที่มา : Salas-Salvadó, J., Bulló, M., Babio, N., Martínez-González, M. Á., Ibarrola-Jurado, N., Basora, J., ... & Ros, E. (2011). Reduction in the Incidence of Type 2 Diabetes With the Mediterranean Diet Results of the PREDIMED-Reus nutrition intervention randomized trial. Diabetes Care, 34(1), 14-19.

การใช้น้ำมันมะกอกประกอบอาหารช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตอบสนองต่ออินซูลินภายหลังมื้ออาหารในผู้หญิงอ้วนที่มีภาวะดื้ออินซูลิน

เป็นการศึกษาในผู้หญิงอ้วนที่มีภาวะดื้ออินซูลินโดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ทั้ง 2 กลุ่มได้รับประทานอาหารชนิดเดียวกัน แต่ใช้วิธีประกอบอาหารต่างกัน พบว่ากลุ่มที่ใช้วิธีการทอดและผัดด้วยน้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้นมีการตอบสนองต่ออินซูลินดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ใช้วิธีการทอด และผัด

ทีมา Farnetti, S., Malandrino, N., Luciani, D., Gasbarrini, G., & Capristo, E. (2011). Food fried in extra-virgin olive oil improves postprandial insulin response in obese, insulin-resistant women. Journal of Medicinal Food, 14(3), 316-321.

มะเร็ง

การบริโภคไขมันไม่อิ่มตัวพันธะเดี่ยว (Monounsaturated Fat) อาจป้องกันความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมได้

เป็นการศึกษาตามดูกลุ่มคนแบบไปข้างหน้า (Prospective Cohort Study) ศึกษาในผู้หญิงชาวสวีเดนจำนวน 61,471 คน อายุระหว่าง 40 – 76 ปี ซึ่งยังไม่เคยได้รับการตรวจโรคมะเร็งมาก่อน โดยทำจดหมายเชิญกลุ่มผู้หญิงที่สนใจมารับการตรวจเมมโมแกรม พร้อมให้กรอกแบบสอบถามอย่างละเอียด ทั้งนี้จะมีการคัดขึ้นกลุ่มที่อาจส่งผลให้การศึกษาคลาดเคลื่อนออกจากการประเมินโดยพิจารณาจากแบบสอบถาม พบว่าการบริโภคไขมันไม่อิ่มตัวพันธะเดี่ยวเป็นประจำมีแนวโน้มที่ป้องกันความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมได้ ในขณะที่การบริโภคไขมันไม่อิ่มตัวหลายพันธะอาจเพิ่มความเสี่ยง และการบริโภคไขมันอิ่มตัวไม่มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม

ที่มา : Wolk, A., Bergstrom, R., Hunter, D., Willett, W., Ljung, H., Holmberg, L., ... & Adami, H. O. (1998). A prospective study of association of monounsaturated fat and other types of fat with risk of breast cancer. Archives of internal medicine,158(1), 41.
Breast Cancer Ribbon

การรับประทานน้ำมันมะกอกมีบทบาทในการป้องกันมะเร็งเต้านมในผู้หญิงชาวคะแนรี่

เป็นการศึกษากรณีศึกษาของผู้ที่ป่วยเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ป่วย (Case Control Study) ศึกษาในผู้หญิงที่ได้รับการตรวจเนื้อเยื้อแล้วพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมในระยะแรกจำนวน 326 คนจากโรงพยาบาลบนเกาะคะแนรี และผู้หญิงทั่วไปชาวคะแนรี่ที่คัดเลือกจากการสำรวจทางโภชนาการอีก 492 คน โดยสัมภาษณ์ตัวต่อตัวเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคอาหารและการเป็นมะเร็งเต้านม พบผลการสำรวจสนับสนุนว่าการบริโภคน้ำมันมะกอกมีผลในทางป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมของผู้หญิงชาวคะแนรี่

ที่มา : Garcıa-Segovia, Purificación, et al. "Olive oil consumption and risk of breast cancer in the Canary Islands: a population-based case-control study." Public Health Nutr 9 (2006): 163-7.

การรับประทานน้ำมันมะกอกลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

เป็นการศึกษาแบบกรณีศึกษาของผู้ป่วยเปรียบเทียบกับผู้ไม่ป่วย (Case Control Study) ศึกษาในผู้ป่วยชาวเบลเยียม 200 ราย และผู้ไม่ป่วย 386 ราย โดยรวบรวมข้อมูลการบริโภคอาหารของผู้ที่ป่วย และไม่ป่วยที่ศึกษา พร้อมมีการปรับแต่งปัจจัยอื่นๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อความถูกต้องในการประเมินข้อมูล พบว่าการรับประทานน้ำมันมะกอกอาจให้ผลในการป้องกันมะเร็งกระเพาะปัสสาวะในขณะที่การรับประทานเนยแข็ง(Cheese)อาจเพิ่มความเสี่ยง

ที่มา : Brinkman, M. T., Buntinx, F., Kellen, E., Van Dongen, M. C., Dagnelie, P. C., Muls, E., & Zeegers, M. P. (2011). Consumption of animal products, olive oil and dietary fat and results from the Belgian case–control study on bladder cancer risk. European Journal of Cancer, 47(3), 436-442.    


การได้รับกรดไขมันไม่อิ่มตัวพันธะเดี่ยวจากน้ำมันพืชมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก

เป็นการศึกษาแบบกรณีศึกษาของผู้ป่วยเปรียบเทียบกับผู้ไม่ป่วย (Case Control Study) ศึกษาในผู้ป่วยชาวนิวซีแลนด์ 317 ราย และผู้ไม่ป่วย 480 ราย พบว่าการรับประทานน้ำมันพืชที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวพันธะเดี่ยวสูง เช่นน้ำมันมะกอก มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลดความเสี่งในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก

ที่มา Norrish, A. E., Jackson, R. T., Sharpe, S. J., & Skeaff, C. M. (2000). Men who consume vegetable oils rich in monounsaturated fat: their dietary patterns and risk of prostate cancer (New Zealand). Cancer Causes & Control, 11(7), 609-615.

การรับประทานน้ำมันมะกอกเป็นน้ำมันบริโภคอาจป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

เป็นการศึกษาภาพรวม (Ecological Study) ศึกษาใน 28 ประเทศจาก 4 ทวีป โดยรวบรวมข้อมูลระดับนานาชาติที่มีอยู่ ได้แก่ อุบัติการณ์การเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่, ข้อมูลการบริโภคอาหาร และน้ำมันมะกอก และหาความสัมพันธ์ระหว่างอุบัติการณ์เกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่กับการบริโภคอาหาร(โดยวิธีการวิเคราะห์สมการถดถอยพหุคณแบบเป็นขั้นตอน) พบว่า 76% ของการแปรผันภายในประเทศของอุบัติการณ์การเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มีความเกี่ยวข้องกับการบริโภคอาหาร 3 ชนิด ได้แก่ เนื้อ, ปลา และน้ำมันมะกอก โดยที่การบริโภคเนื้อ และ ปลามีความสัมพันธ์กับอุบัติการณ์การเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในทางบวก ในขณะที่การบริโภคน้ำมันมะกอกมีความสัมพันธ์ในทางตรงกันข้าม อาจสรุปได้ว่าการบริโภคน้ำมันมะกอกอาจมีผลในทางการป้องกันในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ 

ที่มา : Stoneham, Michael, et al. "Olive oil, diet and colorectal cancer: an ecological study and a hypothesis." Journal of epidemiology and community health 54.10 (2000): 756-760.

สมองเสื่อม/โรคสมอง

ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบ (Stroke)

เป็นการศึกษาแบบ The Three-City Study ศึกษาความเสี่ยงในประชากรของประเทศฝรั่งเศส 3 เมือง ได้แก่ Bordeaux (2,104 คน), Dijon (4,931 คน)และ Montpellier (2,259 คน) รวมจำนวน 9,294 คนในช่วงปีคศ. 1999 - 2000 พบว่าประชากรที่รับประทานน้ำมันมะกอกเป็นประจำจะลดอุบัติการณ์ความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบได้ 41%

ที่มา : Samieri, C., Féart, C., Proust-Lima, C., Peuchant, E., Tzourio, C., Stapf, C., ... & Barberger-Gateau, P. (2011). Olive oil consumption, plasma oleic acid, and stroke incidence The Three-City Study. Neurology, 77(5), 418-425.

การบริโภคน้ำมันมะกอกเป็นประจำอาจให้ผลดีในด้านการรับรู้ในผู้สูงอายุ

เป็นการศึกษาแบบ The Three-City Study  ศึกษาความเสี่ยงในประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปีของประเทศฝรั่งเศส 3 เมือง ได้แก่ Bordeaux, Dijon และ Montpellier โดยใช้แบบสอบถามพฤติกรรมการรับประทานและนำผู้ทดสอบที่คัดเลือกมาทำแบบทดสอบความสามารถในการรับรู้ต่างๆ พบว่ามีความเป็นไปได้สำหรับผู้สูงอายุที่บริโภคน้ำมันมะกอกเป็นประจำจะแสดงความบกพร่องในการรับรู้(Cognitive deficit)ต่ำกว่าผู้สูงอายุที่ไม่ได้บริโภคน้ำมันมะกอก

ที่มา : Berr, C., Portet, F., Carriere, I., Akbaraly, T. N., Feart, C., Gourlet, V., ... & Ritchie, K. (2009). Olive oil and cognition: results from the three-city study.Dementia and geriatric cognitive disorders, 28(4), 357-364.

การบริโภคอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียนที่เน้นการรับประทานน้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้นเป็นระยะเวลานานจะช่วยปรับปรุงสมรรถนะในการรับรู้(Cognitive function)ของผู้สูงวัยได้ดีกว่าการรับประทานอาหารไขมันต่ำ

เป็นการศึกษา Predimed (หน่วยงานที่ศึกษาเกี่ยวกับโภชนาการเพื่อการป้องกันการเกิดโรคหัวใจ) ศึกษาในกลุ่มประชากรผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามการบริโภคอาหารคือ แบบเมดิเตอร์เรเนียนที่เน้นน้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้น, แบบเมดิเตอร์เรเนียนที่เน้นถั่ว และแบบอาหารควบคุมไขมัน เป็นเวลา 6.5 ปีแล้วนำมาทำการทดสอบสมรรถนะการรับรู้

ผลการศึกษา : กลุ่มที่บริโภคอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียนที่เน้นการรับประทานน้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้นจะมีผลการทดสอบสมรรถนะการรับรู้ดีที่สุดและแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่รับประทานอาหารไขมันต่ำ

ที่มา : Martinez-Lapiscina, E. H., Clavero, P., Toledo, E., San Julian, B., Sanchez-Tainta, A., Corella, D., ... & Martinez-Gonzalez, M. Á. (2012). Virgin olive oil supplementation and long-term cognition: the Predimed-Navarra randomized, trial. The journal of nutrition, health & aging, 1-9.

โรคข้ออักเสบ

 การรับประทานน้ำมันมะกอกร่วมกับน้ำมันปลาจะทำให้อาการของผู้ป่วยข้ออักเสบดีขึ้น

เป็นการศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่ม และมีกลุ่มขนาน (a parallel randomized design) ศึกษาในผู้ป่วย 43 คน (หญิง 34 , ชาย 9) ที่มีอายุเฉลี่ย 49 ปี  โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกให้รับประทานน้ำมันถั่วเหลือง, กลุ่มที่สองให้รับประทานน้ำมันปลาอย่างเดี่ยว, กลุ่มที่สามให้รับประทานน้ำมันปลาร่วมกับน้ำมันมะกอก พบว่าอาการของผู้ป่วยในกลุ่มที่ให้น้ำมันปลาอย่างเดียว และน้ำมันปลาร่วมกับน้ำมันมะกอกมีการพัฒนาไปในทางที่ดีทั้ง 2 กลุ่ม แต่กลุ่มที่ให้น้ำมันปลาร่วมกับน้ำมะกอกจะทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นชัดเจนกว่า

ที่มา : Berbert, A. A., Kondo, C. R. M., Almendra, C. L., Matsuo, T., & Dichi, I. (2005). Supplementation of fish oil and olive oil in patients with rheumatoid arthritis.Nutrition, 21(2), 131-136.

โรคกระดูกพรุน

การรับประทานอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียนที่อุดมไปด้วยน้ำมันมะกอกช่วยป้องกันการสูญเสียของมวลกระดูกได้

เป็นการศึกษาแบบติดตามระยะยาวเป็นเวลา 2 ปีในผู้สูงอายุจำนวน 127 คน โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามการบริโภคอาหารคือ แบบเมดิเตอร์เรเนียนที่เน้นน้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้น, แบบเมดิเตอร์เรเนียนที่เน้นถั่ว และแบบอาหารควบคุมไขมัน และติดตามค่าบงชี้การสร้างกระดูก พบว่ากลุ่มที่รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยน้ำมันมะกอกมีค่าบ่งชี้การสร้างมวลกระดูกเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

ที่มา Fernández-Real, José Manuel, et al. "A Mediterranean diet enriched with olive oil is associated with higher serum total osteocalcin levels in elderly men at high cardiovascular risk." Journal of Clinical Endocrinology & Metabolism97.10 (2012): 3792-3798.

โรคอ้วน

เพิ่มประสิทธิภาพการต้านอนุมูลอิสระในเลือดซึ่งเกี่ยวข้องกับการลดน้ำหนัก

เป็นการศึกษา Predimed (หน่วยงานที่ศึกษาเกี่ยวกับโภชนาการเพื่อการป้องกันการเกิดโรคหัวใจ) ซึ่งมีการคัดเลือกผู้ที่มีความเสี่ยงจะเป็นโรคหัวใจมาจำนวน 1055 คนจากศูนย์ PREDIMED-UNAV แล้วแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่รับประทานอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียนที่เน้นน้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้น, กลุ่มที่รับประทานอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียนที่เน้นถั่ว และกลุ่มที่รับประทานอาหารไขมันต่ำ หลังจากนั้นติดตามผลอีก 3 ปีหลังจากคัดเลือกแล้ว โดยเลือกสุ่มมาศึกษาจำนวน 187 คน(กลุ่มอาหารไขมันต่ำ 59 คน, กลุ่มน้ำมัีนมะกอก 65 คน และกลุ่มถั่ว 63คน) พบว่ากลุ่มที่รับประทานอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียนที่เน้นน้ำมันมะกอกจะมีประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระรวมในเลือดสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ และมีความกับการลดลงของน้ำหนักตัว

ที่มา : Razquin, C., J. A. Martinez, M. A. Martinez-Gonzalez, M. T. Mitjavila, R. Estruch, and A. Marti. "A 3 years follow-up of a Mediterranean diet rich in virgin olive oil is associated with high plasma antioxidant capacity and reduced body weight gain." European journal of clinical nutrition 63, no. 12 (2009): 1387-1393.

ลดอุบัติการณ์การเกิดโรคอ้วนในผู้ที่รับประทานน้ำมันมะกอก

เป็นการศึกษาการติดตามกลุ่มประชากรแบบไปข้างหน้า (A population-based cohort study ) ศึกษาในผู้ที่ถูกเลือกแบบสุ่มจำนวน 613 คน จาก 1226 คน ที่มีอายุระหว่าง 18 – 65 ปี โดยทำการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารโดยแบ่งออกเป็นกลุ่มที่รับประทานน้ำมันมะกอก และกลุ่มที่รับประทานน้ำมันทานตะวัน ใช้เวลาศึกษาเป็นเวลา 6 ปี พบว่าอุบัติการณ์การเกิดโรคอ้วนพบในกลุ่มที่บริโภคน้ำมันทานตะวันมากกว่ากลุ่มที่บริโภคน้ำมันมะกอก
ที่มา : Soriguer, F., Almaraz, M. C., Ruiz-de-Adana, M. S., Esteva, I., Linares, F., García-Almeida, J. M., ... & Rojo-Martínez, G. (2009). Incidence of obesity is lower in persons who consume olive oil. European journal of clinical nutrition,63(11), 1371-1374.

การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยน้ำมันมะกอกสามารถช่วยในการลดน้ำหนักได้ดีกว่าอาหารไขมันต่ำในกลุ่มผู้หญิงที่เคยเป็นมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม

เป็นการศึกษานำร่อง (A Pilot study ) ศึกษาในผู้หญิงที่เคยเป็นมะเร็งเต้านมระยะลุกลามจำนวน 44 คน โดยที่มี 28 คนที่อยู่ร่วมจนสิ้นสุดการศึกษา โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งให้รับประทานอาหารไขมันต่ำ ส่วนอีกลุ่มรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยน้ำมันมะกอกชนิดเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้น ทั้งนี้มีการควบคุมพลังงานที่ได้รับจากอาหารในแต่ละวันเท่ากันทั้ง 2 กลุ่มคือ 1500 แคลอรี่ โดยให้รับประทานเป็นเวลา 8 สัปดาห์ หลังจากนั้นให้ผู้ทดสอบตัดสินใจเลือกเองว่าจะรับประทานอาหารแบบไหนต่ออีก 6 เดือน พบว่ากลุ่มที่รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยน้ำมันมะกอกมีน้ำหนักตัวลดลงได้ดีกว่ากลุ่มที่รับประทานอาหารไขมันต่ำ และเมื่อให้ผู้ทดสอบตัดสินใจเลือกรูปแบบรับประทานอาหารต่ออีก 6 เดือนพบว่าส่วนใหญ่จะเลือกรับประทานรูปแบบอาหารที่อุดมไปด้วยน้ำมันมะกอก

ที่มา: Flynn, Mary M., and Steven E. Reinert. "Comparing an olive oil-enriched diet to a standard lower-fat diet for weight loss in breast cancer survivors: a pilot study." Journal of Women's Health 19.6 (2010): 1155-1161.

เพิ่มระดับฮอร์โมนเซอโรโทนินในเลือดทำให้รู้สึกอิ่มนาน

เป็นการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างน้ำมันมะกอก และน้ำมันอื่นๆ(น้ำมันหมู, น้ำมันคาโนล่า และเนย) เป็นเวลา 3 เดือน พบว่ากลุ่มที่ได้รับน้ำมันมะกอกจะมีระดับฮอร์โมนเซอโรโทนินในเลือดสูงสุด และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้รับน้ำมันมะกอก และกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับพบว่า กลุ่มที่ได้รับน้ำมันมะกอกมีปริมาณการบริโภคอาหารที่เท่าเดิม ในขณะที่กลุ่มควบคุมมีปริมาณการบริโภคอาหารที่เพิ่มขึ้น

ที่มา P. Schieberle, V. Somoza, M. Rubach, L. Scholl, M. Balzer; Identifying substances that regulate satiety in oils and fats and improving low-fat foodstuffs by adding lipid compounds with a high satiety effect; Key findings of the DFG/AiF cluster project "Perception of fat content and regulating satiety: an approach to developing low-fat foodstuffs," 2009-2012.

ผิวพรรณ


ป้องกันการเสื่อมของผิวเนื่องจากแสงแดด

เป็นการศึกษาแบบภาคตัดขวาง (a cross section study) ศึกษาในผู้หญิง 1264 คน และ ผู้ชาย 1655 คน ที่มีอายุระหว่าง 45 – 60 ปี โดยสำรวจพฤติกรรมการบริโภคกรดไขมันไม่อิ่มตัวพันธะเดี่ยวเป็นเวลา 2.5 ปี จากนั้นนำผู้ที่ถูกสำรวจมาตรวจสอบการถูกทำลายของผิวเนื่องจากแสงแดด พบว่าการรับประทานกรดไขมันไม่อิ่มตัวพันธะเดี่ยวในปริมาณมากจะช่วยป้องกันความชราของผิวเนื่องจากแสงแดด(Photoaging)ได้

ที่มา : Latreille, J., Kesse-Guyot, E., Malvy, D., Andreeva, V., Galan, P., Tschachler, E., ... & Ezzedine, K. (2012). Dietary Monounsaturated Fatty Acids Intake and Risk of Skin Photoaging. PloS one, 7(9), e44490.



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คุณสามารถแสดงความคิดเห็นในส่วนนี้ได้ค่ะ