วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

น้ำมันมะกอก กับการป้องกันการอักเสบ



ถ้าท่านใดเคยทานน้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้นแล้วรู้สึกเผ็ด(peppery) หรือแสบคอ(stinging) หรือ เคืองคอ (irritation) นิดหน่อยเวลากลืนลงคอ นั้นคือคุณลักษณะของสารประกอบฟินอลิกที่ชื่อว่า โอลีโอแคนธัล(oleocanthal) ซึ่งจะพบเฉพาะในน้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้นที่มีการสกัดสดๆเท่านั้น(1)

รูปโครงสร้างของโอลีโอแคนธัล

ก่อนหน้านี้ดิฉันได้เขียนบทความสารประกอบฟินอลิกในน้ำมันมะกอกและได้กล่าวถึงสารประกอบหลักๆ 2 ตัว คือ ไฮดรอกซีไทโรซอล(Hydroxytyrosol) และ โอรียูโรพีอีน(oleuropein)(คลิ๊ก) ซึ่งอนุพันธุ์ของมันยังสามารถกลายเป็นสารประกอบฟินอลิกได้อีกมากมาย โอลีโอแคนธัลก็เป็นหนึ่งในนั้น และงานวิจัยในระยะหลังเริ่มให้ความสำคัญกับสารตัวนี้ว่ามีคุณสมบัติในการต้านอักเสบ(anti-inflammatory effect)ได้เช่นเดียวกับยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอย
ด์(NSAID) เช่นไอบูโพรเฟน(ibuprofen) นอกจากนั้นยังพบว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าเมื่อเทียบที่น้ำหนักโมเลกุลที่เท่ากัน(1,2)

โอลีโอแคนธัลสามารถยับยั้งเอนไซม์ไซโคลออกซีจีเนส(COX) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าที่กระตุ้นให้กรดไขมันอะแรกชิโดนิก(arachidonic acid, ARA) เปลี่ยนเป็นพรอสตาแกลนดิน(prostaglandins, PG) และทรอมโบเซน(thromboxane) ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบและก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย เอนไซม์ COX โดยเฉพาะอย่างยิ่ง COX2 เป็นเอนไซม์ที่มีส่วนร่วมกับการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็งหลายๆชนิด, โรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัว(atherosclerosis)
ด้วยเหตุนี้จึงเกิดความเชื่อที่อาจเป็นไปได้ว่าการได้รับสารโอลีโอแคนธัลในปริมาณต่ำๆ เป็นระยะเวลานานจากการรับประทานน้ำมันมะกอกเป็นประจำมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลดอุบัติการณ์การเกิดโรคต่างๆของชาวเมดิเตอร์เรเนียน(2)

ถ้าเราทานน้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้นวันละ 50 กรัม หรือ ประมาณ 4 ช้อนโต๊ะ เราจะได้รับสารโอลีโอแคนธัล 10 มก. ต่อวัน ซึ่งเทียบเท่ากับ 10% ของปริมาณยาต้านอักเสบอย่างไอบูโพรเฟนที่ขนาดรับประทานสำหรับผู้ใหญ่ ทั้งนี้มีรายงานวิจัยแนะนำว่าการได้รับยาต้านอักเสบอย่างเช่นไอบูโพรเฟน และยาต้านเอนไซม์ COX อื่นๆในปริมาณต่ำๆเป็นเวลานานจะสามารถช่วยป้องกันการพัฒนาของโรคมะเร็ง(เช่นมะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งเต้านม) และโรคหัวใจหลอดเลือด(CVD) ได้(2)

การอักเสบเป็นสาเหตุของโรคต่างๆมากมายได้แก่ มะเร็งบางชนิด, โรคที่เกี่ยวข้องกับการเสื่อมของระบบประสาท, โรคที่เกี่ยวข้องกับการเสื่อมของข้อ และโรคหลอดเลือดหัวใจแข็ง การได้รับโอลีโอแคนธัลจากน้ำมันมะกอกเป็นประจำจะสามารถลดการอักเสบซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเหล่านี้ได้

โรคที่เกี่ยวข้องกับการเสื่อมของระบบประสาท
โรคอัลไซเมอร์ เป็นโรคที่พบได้ในผู้สูงอายุซึ่งสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ยังไม่เป็นที่แน่ชัดแต่เชื่อว่าอาจมาจาก 2 สาเหตุ โดยสาเหตุแรกคือ การเปลี่ยนแปลงทางเคมีของโปรตีนเทา(tau) โดยมีการเติมหมู่ฟอสเฟตเข้าไป(phosphorylation) ทำให้โปรตีนเทามีการเปลี่ยนโครงสร้างพันกันเป็นก้อนยุ่งเหยิง(tau fribrillization)ส่งผลให้การสื่อสารของระบบประสาทผิดไป จากการศึกษาในหลอดทดลองพบว่าโอลีโอแคนธัลสามารถลดการเกิดการพันกันของโปรตีนเทาได้(2)  ส่วนสาเหตุที่สองของการเป็นโรคอัลไซเมอร์คือ การสะสมของโปรตีนบีต้าอะไมลอยด์(amyloid β, Aβ) ซึ่งอนุพันธุ์ของมันมีความเป็นพิษต่อสมอง จากการศึกษาในหลอดทดลองพบว่าโอลีโอแคนธัลจะไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอนุพันธ์นั้น และเพิ่มการกำจัดออกของภูมิต้านทาน(antibody)(2)

โรคที่เกี่ยวข้องกับการเสื่อมของข้อ
โอลีโอแคนธัลสามารถยับยั้งกิจกรรมของเอนไซม์ COX ลดการผลิตไนไตรท์ และสารก่ออักเสบต่างๆที่เป็นสาเหตุของโรคข้ออักเสบได้(2)

โรคมะเร็ง
โอลีโอแคนธัลมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง และกระตุ้นการตายของเซลล์มะเร็งได้(2)


งานวิจัยล่าสุด(ปี 2013)ของน้ำมันมะกอก กับคุณสมบัติในการต้านอักเสบ

การต้านโรคลำใส้อักเสบ(ulcerative colitis)
หนูทดลองกลุ่มที่ได้รับอาหารที่อุดมไปด้วยสารประกอบฟินอลิกในน้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้น จะมีค่าบ่งชี้ของการเกิดโรค และมีการแสดงออกถึงการอักเสบลดลงโดยเชื่อว่าสารประกอบฟินอลิกในน้ำมันมะกอกเกี่ยวข้องกับการต้านอักเสบผ่านการกระตุ้นพีพาร์แกมม่า(PPARg), การลดสัญญาณของวิถี NF-kB และ MAPK(3)

ลดการผลิตสารชักนำการอักเสบ(inflammatory mediators)
ส่วนประกอบที่ซาพอนิไฟด์ไม่ได้(ส่วนที่เหลือจากน้ำมันทำปฏิกิริยากับด่าง เช่น สเตอรอล) สามารลดการผลิตอนุมูลอิสระ และไนไตรท์ในเซลล์ภูมิคุ้มกันแมคโครฟากของหนูทดลองที่ถูกกระตุ้นให้เกิดการอักเสบได้ และนอกจากนี้ยังลดการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสารชักนำการอักเสบ(4) นอกจานี้ยังมีการศึกษาในหลอดทดลองโดยสกัดเซลล์ภูมิคุ้มกันโมโนซัยท์จากอาสาสมัครสุขภาพดี แล้วนำมาศึกษาการผลิตอิออนซุปเปอร์ออกไซด์(O2-) , พรอสตาแกลนดินอีทู(PGE2) และทูเมอร์เนโครติกแฟกเตอร์ (TNFα) ของเซลล์ภูมิคุ้มกันภายหลังจากที่ได้รับสารประกอบฟินอลิกจากน้ำมันมะกอกพบว่ามีการผลิตสารเหล่านั้นลดลงซึ่งเป็นคุณสมบัติเช่นเดียวกับยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์(NSAID)(5)

ป้องกันการเสื่อมของกระดูกอ่อนเนื่องจากโรคข้อเสื่อม(osteoarthritis)
การอักเสบที่บริเวณข้อจะทำให้ลูบริซิน(lubricin)ซึ่งเป็นสารน้ำที่ปกป้องบริเวณข้อต่อลดลง และเป็นเหตุให้เกิดการเสื่อมของกระดูกอ่อนบริเวณข้อต่อได้เมื่อเกิดการเสียดสี
จากการศึกษาในหนูทดลองที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อต่อและมีการให้น้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้นร่วมกับการบำบัดด้วยการวิ่งบนสายพานพบว่าสารน้ำลูบริซินมีปริมาณเพิ่มขึ้น และมีการอักเสบลดลงจนกลับมาสู่ระดับปรกติ(6)

เพิ่มความสามารถในการต้านอักเสบของคอลเรสเตอรอลชนิดดี(HDL)
โดยปรกติผู้สูงอายุมักจะมีกลไกในการต้านอักเสบลดลงจึงได้มีการศึกษาผลของการรับประทานน้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้นในคนหนุ่มสาว และผู้สูงอายุพบว่าการรับประทานน้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้นเป็นเวลา 12 สัปดาห์สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการต้านอักเสบของHDL และลดการเสื่อมเนื่องจากอายุที่ทำให้กิจกรรมการต้านอักเสบลดลง(7)

นอกจากการรับประทานแล้วการทาภายนอกก็สามารถป้องกันการอักเสบต่างๆได้ เช่นใช้ทาป้องกันการเกิดแผลกดทับในผู้ป่วยสูงอายุที่เคลื่อนที่ไม่ได้(8) หรือใช้นวดในผู้ป่วยหัวเข่าอักเสบ(knee osteoarthritis) โดยพบว่ามีคุณสมบัติเทียบเท่ากับยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์(NSAID)(9) 

ที่มา
  1. Boskou, D., Tsimidou, M., & Blekas, G. (2006). Polar phenolic compounds.Olive oil. Chemistry and technology, 2, 73-92.
  2. Cicerale, S., Lucas, L. J., & Keast, R. S. J. (2012). Oleocanthal: a naturally occurring anti-inflammatory agent in virgin olive oil. Olive Oil-Constituents, Quality, Health Properties and Bioconversions, 357-374.
  3. Sánchez-Fidalgo, S., Cárdeno, A., Sánchez-Hidalgo, M., Aparicio-Soto, M., & de la Lastra, C. A. (2013). Dietary extra virgin olive oil polyphenols supplementation modulates DSS-induced chronic colitis in mice. The Journal of nutritional biochemistry.
  4. Cardeno, A., Sanchez-Hidalgo, M., Aparicio-Soto, M., & Lastra, C. A. D. L. (2013). Unsaponifiable fraction from extra virgin olive oil inhibits the inflammatory response in lps-activated murine macrophages. Food Chemistry.
  5. Rosignoli, P., Fuccelli, R., Fabiani, R., Servili, M., & Morozzi, G. (2013). Effect of olive oil phenols on the production of inflammatory mediators in freshly isolated human monocytes. The Journal of nutritional biochemistry.
  6. Musumeci, G., Trovato, F. M., Pichler, K., Weinberg, A. M., Loreto, C., & Castrogiovanni, P. (2013). Extra-virgin olive oil diet and mild physical activity prevent cartilage degeneration in an osteoarthritis model: an< i> in vivo</i> and< i> in vitro</i> study on lubricin expression. The Journal of Nutritional Biochemistry.
  7. Loued, S., Berrougui, H., Componova, P., Ikhlef, S., Helal, O., & Khalil, A. (2013). Extra-virgin olive oil consumption reduces the age-related decrease in HDL and paraoxonase 1 anti-inflammatory activities. British Journal of Nutrition, 1-13.
  8. Lupiáñez-Pérez, I., Morilla-Herrera, J. C., Ginel-Mendoza, L., Martín-Santos, F. J., Navarro-Moya, F. J., Sepúlveda-Guerra, R. P., ... & Morales-Asencio, J. M. (2013). Effectiveness of olive oil for the prevention of pressure ulcers caused in immobilized patients within the scope of primary health care: study protocol for a randomized controlled trial. Trials, 14(1), 348.
  9. AlMalty, A. M., Hamed, S., AbuTariah, H., & Jebril, M. (2013). The effect of Topical Application of Extra Virgin Olive Oil on Alleviating Knee Pain in Patients with Knee Osteoarthritis: a Pilot Study. Indian Journal of Physiotherapy and Occupational Therapy-An International Journal, 7(3), 6-11.